แกงไตปลา
แกงไตปลา
หลาย ๆ คนชอบ
มักกินคู่กับขนมจีนหรือข้าวสวย
มีผักสดแกล้มคู่กัน
กินแล้วต้องน้ำหูน้ำตาไหลถึงจะอร่อย
กินแกงไตปลาแบบไม่เผ็ด ไม่เข้มข้น เหมือนไม่ครบเครื่องจริง ๆ
แม่หลิ่มรู้จักแกงไตปลาตั้งแต่เด็ก ๆ
แล้วค่ะ แต่จริง ๆ
แล้วแม่ของแม่หลิ่มไม่เคยทำให้กินเลย
แม่จะมีแกงไตปลาจ้าวประจำอยู่ไกลบ้านพอสมควร เขาจะทำขายทุกวันพุธ
แม่จะให้แม่หลิ่มขี่จักรยานหรือรถมอเตอร์ไซต์ไปซื้อครั้งละ 2 ถุง แล้วก็กินกับพ่อแค่ 2 คนเท่านั้น เพราะมันเผ็ดมากและข้นมาก ๆ สีออกคล้ำ ๆ มากด้วย เวลาที่แม่กินแกงไตปลาทีไรจะทำหัวไชโป๊วผัดไข่เพื่อกินคู่กัน
ภาคใต้เขามีแกงไตปลาหลากหลายแบบ แบบไม่ใส่กะทิ
แบบใส่กะทิ แบบไม่ใส่ผัก
แม่หลิ่มทำแกงไตปลากินเองหลายครั้งแล้ว ก็หาอ่านจากเน็ตประกอบกับคิดเอาเองบ้างประกอบกันนะคะ
เตรียมของ สำหรับต้มน้ำไตปลา
ไตปลา 1 ขวด
น้ำสะอาด 1+1/2 ถ้วย
ตะไคร้ 2 ต้น
ข่า 3 แว่น
ใบมะกรูด 3-4 ใบ
สำหรับแกง
ปลาทูสด 5-6 ตัว
น้ำไตปลาที่ต้มและกรองแล้วแบ่งมาครึ่งหนึ่ง
น้ำพริกแกงไตปลา 80-100 กรัม
หน่อไม้ไร่ 4-5 หน่อ
ฟักทองหั่นชิ้นขนาดพอคำ 20 ชิ้น
ถั่วฝักยาว 5 ฝัก
มะเขือเปาะ 5-6 ลูก
ใบมะกรูด 4-5 ใบน้ำสะอาด2 1/2 – 3 ถ้วย
ขั้นตอนการทำ
1.ควักเหงือก
ไส้และพุงปลาทูสดออก ล้างน้ำ 2
ครั้ง พักให้สะเด็ดน้ำ นำไปย่างให้สุกและแห้งพอประมาณ
คือให้แห้งมากกว่าที่กินกับน้ำปลาพริกขี้หนู แต่ไม่แห้งกรอบ พักให้อุ่น
สามารถใช้ปลาอื่นแทนได้ เช่น ปลาน้ำดอกไม้
ปลาโอ
2.แกะเอาแต่เนื้อปลาทู เอาก้างทิ้งไป
อย่าฝากปลาทูย่างไว้กับแมวนะคะ
เสร็จเขาแน่ค่ะ
3.เตรียมสมุนไพรสำหรับต้มไตปลา อันได้แก่
ตะไคร้ 2 ต้น หั่นเฉียง ๆ
จากโคนต้นขึ้นมา 2 นิ้ว ข่าซอยบาง ๆ 3
แว่น ใบมะกรูดฉีก 3-4 ใบ
4.เตรียมน้ำสะอาด 1+1/2 ถ้วย สำหรับต้มไตปลา นำน้ำใส่หม้อ
ตั้งไฟแรงให้น้ำเดือดจัด
5.น้ำเดือดจัดแล้วเทไตปลาลงไปทั้งขวด และเอาสมุนไพรที่เตรียมไว้ใส่ตามลงไป
6.ตั้งน้ำไตปลาให้เดือดแรง ๆ
สักครู่จึงปิดเตาแล้วกรองด้วยกระชอนเอาสมุนไพรออก
7.น้ำไตปลาที่ต้มได้จะเหลือประมาณ 2 ถ้วยเศษ
ๆ แบ่งเป็น 2 ถ้วย นำ 1 ถ้วยมาแกงได้ 1 หม้อย่อม ๆ อีกถ้วยเก็บใส่ภาชนะแช่ตู้เย็นใช้ในครั้งต่อไป
8.สำหรับผักที่ใช้ยอดฮิตในการทำแกงไตปลา เช่น
หน่อไม้ มะเขือเปาะ ฟักทอง
ถั่วฝักยาว มันขี้หนู เม็ดขนุนต้ม
แม่หลิ่มหาเท่าที่หาได้นะคะ
แม่หลิ่มใช้หน่อไม้ไร่หน่อเล็ก ๆ
ปัจจุบันหายากแล้วที่ไม่บรรจุปี๊บ
ที่บ้านไม่นิยมกินหน่อไม้ปี๊บค่ะ
จะมีกลิ่นที่ไม่ชอบ
เวลาซื้อมาแล้วจะต้มน้ำทิ้ง 1 ครั้งก่อน
แล้วจึงนำมาแกง ไม่เช่นนั้นกลิ่นจะออกมาในน้ำแกง พาลให้กินไม่หมดหม้อทุกทีไป
9.เตรียมผักที่ต้องการใช้แกงตามชนิดผัก หน่อไม้แม่หลิ่มหั่นชิ้นพอคำ ถั่วฝักยาวหั่นท่อนสั้น 1 นิ้ว ฟักทองปอกเปลือกนอกออกบ้างแล้วหั่นชิ้นพอคำ มะเขือเปาะล้างและตัดขิ้วทิ้งรอผ่าตอนลงหม้อค่ะ
10.เตรียมใบมะกรูดฉีกที่จะใส่ลงหม้อแกงไว้ด้วยเพิ่มความหอม
11.น้ำไตปลาที่ต้มแล้วแบ่งมาเพียงครึ่งเดียว แม่หลิ่มตวงได้ 1 ถ้วยเศษ ๆ นะคะ 1 ถ้วยกับอีก 1 ทัพพี 1 ทัพพีประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ
12.นำน้ำพริกแกงไตปลาประมาณ 3/4 ของ 1
ขีดใส่ลงไป
น้ำพริกแกงแต่ละจ้าวเผ็ดไม่เท่ากัน
บางจ้าวใส่ 1 ขีดแล้วกินไม่ได้เลย
มันเผ็ดเกินรับไหว ค่อย ๆ
ใส่ดีกว่าค่ะ คนให้น้ำแกงไม่เป็นก้อน
13.นำหม้อไปตั้งไฟกลางให้เดือด เติมน้ำสะอาดลงไปอีก 2 -2 1/2 ถ้วย ใช้ชิมเอาค่ะว่าเค็มพอแค่ไหน แต่ค่อย ๆ ใส่ก่อน ไม่พอเพิ่มทีหลังได้ค่ะ
ถ้าอ่อนน้ำพริกแกงให้ละลายน้ำพริกแกงใส่เพิ่มค่ะ
14.รอน้ำแกงเดือดอีกครั้งจึงใส่เนื้อปลาที่แกะแล้วลงไป ใช้ทัพพีคนพอเข้ากัน
15.ใส่ผักสุกยากก่อน ฟักทอง
ตามด้วยหน่อไม้ ทิ้งเวลาไว้ 2 นาที
16.ใส่ถั่วฝักยาวและมะเขือเปาะที่ผ่าแล้วลงไป ใช้ทัพพีคนพอทั่ว เร่งไฟให้แรงเพื่อให้ผักสุก
ถ้าน้ำงวดไปจนน้ำแกงรสชาติเค็มจัดให้ใส่น้ำเพิ่มได้ครั้งละตามสมควร
17.ชิมรสชาติอีกครั้ง
ถ้าอ่อนเค็มเติมน้ำไตปลาหรือเกลือ
ถ้าชอบแกงไตปลามีรสเปรี้ยวที่ปลายลิ้นอาจใส่ส้มแขกหรือน้ำมะขามเปียกลงไปเล็กน้อยค่ะ
18.ได้รสชาติที่ถูกใจและผักสุกได้ที่จึงใส่ใบมะกรูดแล้วปิดเตา คนพอทั่ว
19.ตักเสิร์ฟคู่กับผักสดหลายชนิดและกับข้าวแห้ง
ๆ อีกอย่างค่ะ อ้อ !!!!! แกงไตปลาหากข้ามคืนจะอร่อยกว่าตอนแกงเสร็จใหม่
ๆ ค่ะ
ประโยชน์ของแกงไตปลา
แกงไตปลามีรสเผ็ด อาหารที่มีรสเผ็ดจะมีคุณสมบัติช่วยให้เจริญอาหาร
แกงไตปลาใช้พริกขี้หนูจำนวนมากใส่เป็นเครื่องแกง
ซึ่งพริกขี้หนูมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้คลื่นไส้อาเจียน แก้โรคบิด
เม็ดพริกมีสารที่สามารถทำให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดไหลเวียนดีขึ้น
แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ท่านที่เป็นโรคเกี่ยวกับตาหรือผู้ป่วยอาการเจ็บคอ คอแห้ง ไอ
ไม่ควรรับประทานพริกขี้หนูจำนวนมากควรรับประทานจำนวนน้อย